การเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือ "การลงมือทำ"
หากใครไม่เคยทำ เราจะไม่รู้
เวลามีคนมาเล่าว่าไปกินอาหารร้านนี้มา อร่อยมาก
เราก็จะเสพรับรู้ได้ระดับหนึ่งว่าอาหารร้านนี้อร่อย
แต่เราจะไม่สามารถรู้สึกเหมือนที่เพื่อนเรารู้สึกแบบที่ไปกินมาได้เลย
.
หรือเวลาที่เราเคยเสิชหาข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว
เรารู้ว่าประเทศนี้มีอะไรบ้างที่น่าไป
แต่ถ้าเราไม่เคยไปสถานที่นั้นเลย
เราอาจจะพูดได้ไม่เต็มปาก หรือมันยังขาดอะไรบางอย่าง
เพราะคุณไม่ได้สัมผัส ดื่มด่ำกับสถานที่นั้นจริงๆ
.
หากใครไม่เคยสอนออนไลน์ อาจจะดูว่ามันเป็นเรื่องยาก
แต่จากประสบการณ์ผู้เขียนที่เคยสอนทั้ง Offline และ Online
ส่วนตัวคิดว่ามันมีความยาก ง่ายกันคนละแบบ
.
สิ่งที่ท้าทายของการสอนแบบออนไลน์คือ
ทำอย่างไรให้ผู้เรียนกล้าเปิดกล้อง กล้าแชร์
และเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาฟังเราอยู่จริงๆ
.
ต้องบอกเลยว่าผู้เขียนเองมีการเตรียมตัวสำหรับคลาสออนไลน์
มากกว่าคลาสออฟไลน์ เพราะการเรียนแบบออนไลน์
ผู้เรียนเองมีสมาธิจดจ่ออยู่กับเราได้ไม่นาน
บางคลาส คนเรียนไม่ได้เปิดกล้อง เราก็ไม่รู้ว่าเขาทำอะไรอยู่
วันนี้เลยมีเทคนิคเบื้องหน้า เบื้องหลังที่ตนเองเคยใช้และคิดว่าเวิร์คมาแบ่งปันกัน
.
- เราต้องเตรียมเนื้อหาให้สั้น กระชับ ไม่ต้องร่ายยาว ผู้สอนบางคนมีใจอยากถ่ายทอดเยอะ แต่ดันลืมถามคนฟังว่าเขาอยากฟังเยอะขนาดนั้นด้วยไหม และสมัยนี้ยิ่งใครใช้เวลาในการสอนได้น้อย แต่ได้ผลลัพธ์แบบเดิมคนนั้นเจ๋ง
- ควรมีการตอบโต้ว่าสิ่งที่ผู้สอนพูดไป คนเรียนเข้าใจรึเปล่า ไม่ใช่พูดไปซะเยอะ สรุปว่าลืมเปิดไมค์ พูดไปซะเยอะ คนเรียนฟังไม่เข้าใจ เขาก็ไม่อยากฟังต่อ แม้ว่าเนื้อหาที่เตรียมมาจะดีเหลือเกิน
- บางครั้งคนสอนอาจไม่มีผู้ช่วย ต้องทำทุกอย่างคนเดียว การมี 2 จอก็เป็นทางออกที่จะช่วยได้ ส่วนตัวแล้วผู้เขียนจะใช้สองจอเพื่อเราจะได้เห็นหน้าจออีกอันที่ผู้เรียนเขาเห็น เพราะเวลาที่เราเป็นผู้สอน เราแชร์หน้าจอ มันอาจจะโชว์หน้าตาอีกแบบ แบบที่เราไม่ต้องการ แต่การมีสองจอเป็นการเช็คว่าสิ่งที่ผู้เรียนเห็นใช่หน้าตาที่เราอยากโชว์ให้คนเรียนเห็นรึเปล่า
- นอกจากนี้การใช้สองจอ อันนี้เทคนิคเฉพาะตัว ผู้เขียนเองชอบมองคนเรียน ว่าเขามีปฏิกิริยาโต้ตอบอย่างไรบ้าง ก็จะใช้อีกจอนี่แหละในการมองหน้าตาคนเรียน
- บางคนใช้อุปกรณ์หลายเครื่อง จน งง ก็มีว่าอุปกรณ์ตัวนี้ไว้ทำอะไร เพราะฉะนั้นการที่เราซ้อมกับตัวเองก่อนสอนจริง จะช่วยได้ว่า เครื่องนี้ดูข้อความ เครื่องนี้แชร์หน้าจอ เครื่องนี้เปิดกล้องคุยกับคนเรียน
6. การเรียนออนไลน์มันท้าทายตรงที่ทำไงให้เขาสนใจอยู่กับเราตลอด เทคนิคอีกอันที่ใช้คือ สอดแทรกกิจกรรมให้คนเรียนได้ลงมือทำบ้าง อย่าให้แค่นั่งฟังเฉยๆ
7. เคยเห็นคนสอนหลายคน อาจจะคิดว่าเรามองคนเรียนอยู่นะ แต่จริงๆแล้วเวลาสอนออนไลน์คนสอนต้องมองกล้อง รูเล็กๆ เพื่อให้ภาพที่ส่งออกไป คนเรียนจะเห็นว่าคุณกำลังพูดกับเขาอยู่ ไม่ใช่พูดกับกระดาษ หรือสิ่งของใดๆ
8. ก่อนที่จะมีการสอนจริง ควรทดสอบทั้งอินเตอร์เนต ภาพ เสียง ชัดไหม ไม่ใช่ไปเล่นเอาสดๆระหว่างสอน เพราะจะทำให้คนเรียนรู้สึกว่าผู้สอนไม่พร้อม หรือว่าไม่ได้เตรียมตัวมา
9. การออกแบบหลักสูตรสำคัญมากๆเพราะเราคงไม่อัดให้คนเรียน เรียนทั้งวันทีเดียว 6 ชั่วโมงแบบ Offline แต่ถ้าเนื้อหามันเยอะจริงๆ เราอาจจะซอยย่อยเป็นหลายๆช่วงแทน หลายๆวันแทน ให้มีเวลาคนเรียนได้พัก 10-20 นาทีบ้าง หากสอนติดกันยาว เผื่อใครจะลุกไปเข้าห้องน้ำ หรือพักสายตาจากคอมบ้าง เพราะการที่ต้องนั่งเรียนอยู่หน้าจอ มันก็ทรมานสังขาร สายตาคนเรียนเหมือนกันนะ
10.เริ่มและเลิกให้ตรงเวลา อันนี้เป็นหัวใจของคนที่เป็นมืออาชีพ แม้ว่าคนจะเข้ามาเรียนน้อยหรือเข้ามาเลทเพราะอาจติดภาระงาน ผู้สอนก็ควรเริ่มให้ตรงเวลา เป็นหน้าที่ที่ผู้สอนต้องบริหารเวลาให้ดี การสอนออนไลน์มันอาจจะต้องเผื่อเวลากว่าจะถาม กว่าจะตอบ มันอาจจะไม่ได้ทันทีเหมือนคลาสออฟไลน์มันมีในเรื่องของความเร็วช้าของสัญญาณอินเตอร์เนตเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งตรงนี้เป็นอะไรที่ควบคุมยากกว่าคลาสออฟไลน์ และต้องใช้ชั่วโมงในการสอนช่วย เช่น หากมีคำถามของผู้เรียนในคลาสเยอะ เราจะมีวิธีในการตัดบทอย่างไร เป็นหน้าที่ของผู้สอนที่ต้องเลือกระหว่างเนื้อหาที่เตรียมมากับคำถามของผู้เรียน เป็นต้น
11. อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจเทคโนโลยี ควรคิดแผนสำรองไว้ด้วยว่า หากระหว่างที่สอนๆไป มีปัญหาเรื่องอินเตอร์เนตจะทำอย่างไร ต้องใช้ Hotspot หรือ Wifi ที่บ้านดี หรือถ้าสอนๆไปคอมค้างจะทำอย่างไร มีสำรองไฟล์ไว้ที่ไหนบ้างรึเปล่า เคสนี้ผู้เขียนเคยเจอมากับตัวแล้ว หรืออาจจะต้องสดแบบไม่มีสไลด์เลย
.
ยังมีเทคนิคหยิบๆย่อยๆอีก มากมาย แต่เอาหลักๆ 11 เทคนิคนี้ก่อนละกัน
ที่ผู้เขียนได้เคยลองใช้มากับตัว และคิดว่าน่าจะช่วยให้คลาสออนไลน์น่าสนใจ
และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
.
เราไม่สามารถบังคับผู้เรียนให้เปิดกล้อง ตอบคำถามได้
แต่สิ่งที่ผู้สอนทำได้คือการสร้างบรรยากาศในคลาสให้น่าสนใจ
และปรับรูปแบบการสอนของเราให้เหมาะกับคนเรียนในแต่ละกลุ่ม
แล้วผู้เรียนเขาจะเปิดใจ ให้ความร่วมมือกับเราเอง หากเราทำให้เขาชอบได้
.
และนี่เลยเป็นเหตุผลว่าเพราะอะไรการสอนออนไลน์ถึงต้องเตรียมตัวมากกว่าออฟไลน์
ยิ่งเราไม่เคยทำ เราจะคิดว่ามันยาก เหมือนที่ผู้เขียนเคยประสบมา
แต่พอเราทำบ่อยๆจนเริ่มคล่อง เราอาจจะเปลี่ยนมารู้สึกชอบและหลงรักการสอนออนไลน์ก็ได้
เป็นกำลังใจให้ผู้สอนและผู้เรียนทางออนไลน์กันทุกคนนะคะ
.
หากคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์ ท่านสามารถแชร์ต่อได้
ไม่มีลิขสิทธิ์ เพื่อพัฒนาคนของประเทศเรา ให้ก้าวทันโลกไปด้วยกันค่ะ
.
อรพินท์ ธีระตระกูลชัย(เทรนเนอร์ซันนี่)
Team Energized Trainer